Castown

 อร่อย!

นี่คือสิ่งแรกที่ผุดขึ้นในหัวฉัน เมื่อลองจิบ Castown โซดาไม่หวานจัด แต่หอมและสดชื่นซาบซ่า ไม่เหมือนน้ำอัดลมยี่ห้อไหนในท้องตลาด (สิ่งถัดมาคือการบอกตัวเองว่า ควรมีไว้ติดตู้เย็นออฟฟิศอย่างยิ่ง)

แต่แน่นอน ฉันไม่ได้มานั่งอยู่กับ บอม-รัฐศรัณย์ พีรพงศ์เดชา ผู้ก่อตั้ง Castown เพียงเพื่อชิมรสเครื่องดื่มที่เขาคิดขึ้น ฉันมาเพื่อชิมเรื่องราวเจ้าของเหลวสีน้ำตาลนี่ด้วย

ข้อมูลพื้นฐานของบอมคือเจ้าของร้านกาแฟม่อนเมฆตรงซอยนิมมาน 5 ที่มีคนยืนยันว่าชงกาแฟอร่อยหาตัวจับยาก แต่พอคุยลึกลงไป ฉันก็พบว่าเขาเป็นหนุ่มเนิร์ดเรื่องของเหลวทุกชนิด จากการหัดทำกาแฟจนเชี่ยวชาญ บอมลามมาหัดทำคราฟต์เบียร์จนเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของวงการคราฟต์เบียร์ไทย (ระหว่างสัมภาษณ์ บอมเล่าเรื่องที่เขาหัดโคลนเบียร์ชาติอื่นด้วยการ set zero น้ำเปล่า แล้วไปซื้อแร่ธาตุมาเติมให้ตรงกับแหล่งผลิตเบียร์ยี่ห้อที่ต้องการ อะไรจะขนาดนั้น)

และตอนนี้ ก็ถึงเวลาของคราฟต์โซดาที่ชื่อ Castown

เรื่องมีอยู่ว่า นอกจากเนิร์ดของเหลว บอมยังเป็นมนุษย์ช่างสงสัย ระหว่างไปช่วยคุณลุงเจ้าของสวนกาแฟอินทรีย์ที่ดอยสะเก็ดดูเรื่องการผลิต เพื่อให้ได้เมล็ดคุณภาพมาใช้ที่ร้าน บอมเห็นเศษเปลือกกาแฟที่ถูกคัดแยกทิ้งไว้กองพะเนินอยู่บนพื้น พอกลับไปอีกรอบ นอกจากเปลือกเริ่มเน่า คุณลุงยังบอกว่าไม่มีคนแบกไปทิ้งที่อื่น เพราะฉะนั้นเดี๋ยวจะฉีดทิ้งลงน้ำ บอมจึงติดใจปัญหานี้และสงสัยว่า จะหยิบ ‘ขยะ’ ในสายตาทุกคนมาทำอะไรได้บ้าง

หลังจากนั้น เปลือกกาแฟก็ถูกจับมาเจอกับความเนิร์ดของบอม

“ส่วนมากที่เราเสิร์ชเจอในอินเทอร์เน็ตคือคนเอามาใช้เป็นปุ๋ย ก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งจนไปเจอในหน้าลึกมากของกูเกิลว่า คนแอฟริกาเอาเปลือกมาตากแห้ง แล้วชงน้ำร้อนกินตอนเช้าเหมือนชา เราก็คิดว่ามันกินได้ มีคนกินแล้วนี่ ก็เอามาทำชาสิ” บอมเล่า

คิดดังนั้น นักเล่นแร่แปรธาตุของเหลวก็หยิบเปลือกมาทดลองชงเป็นชา ผลคือรสชาติไม่เลว แต่ยังสู้ชาในท้องตลาดที่มีมหาศาลไม่ได้

ชายหนุ่มเลยทดลองต่อ จนสุดท้ายมาสู่เครื่องดื่มที่ใช้วิธีสร้างคาร์บอนไดออกไซด์จากธรรมชาติแบบการทำรูทเบียร์โบราณ เริ่มจากเอาชาเปลือกกาแฟใส่ขวด ใส่น้ำตาลและยีสต์ตามลงไป พอปิดฝา ยีสต์จะทำงานด้วยการกินน้ำตาลแล้วเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์กับคาร์บอนไดออกไซด์ บอมควบคุมให้ยีสต์หยุดทำงานก่อนจะสร้างแอลกอฮอล์ เพื่อจะได้เป็นเครื่องดื่มไม่มึนเมา ได้คนกินกลุ่มกว้าง ส่วนคาร์บอนฯ นั้นปล่อยให้ซึมลงของเหลว เกิดเป็นความซ่าตามธรรมชาติ

อร่อย!

นี่คือสิ่งที่ผุดขึ้นในหัวของบอม แล้วเมื่อลองแจกจ่ายให้คนใกล้ชิดกิน ผลตอบรับก็ดีเยี่ยมจนเขาตัดสินใจเริ่มผลิตขาย

Castown โซดาคราฟต์เจ้าแรกของไทยจึงถือกำเนิด   

การเกิดขึ้นของเครื่องดื่มขวดเล็กๆ นี้หมายถึงอะไรบ้าง? แรกสุด มันคือทางแก้ปัญหามลภาวะในชุมชนที่เกิดจากกองเปลือกกาแฟเน่าเสียบนพื้นดินและในน้ำ แถมเมื่อ Castown ใช้แต่เปลือกกาแฟอินทรีย์ นั่นแปลว่าต่อไปคนอาจหันมาปลูกแบบอินทรีย์กันมากขึ้น มากกว่านั้น Castown ยังเลือกใช้ขวดรีไซเคิลซึ่งช่วยลดขยะได้อีกทาง

ถัดมา นี่คือการทำให้เปลือกกาแฟซึ่งถูกมองเป็นของเหลือทิ้งมี ‘มูลค่า’ เป็นครั้งแรก ผลตามมาคือ ชาวสวนกาแฟมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกหลานพวกเขาทำอาชีพนี้ต่อ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าการเก็บกาแฟนั้นอันตราย เพราะกาแฟอะราบิก้าของไทยปลูกบนพื้นที่สูงซึ่งมักเป็นเขาและหน้าผาที่ใช้เครื่องเก็บไม่ได้ ถ้าเก็บด้วยมือแล้วมีรายได้คุ้มค่าเสี่ยง ก็น่าจะยังมีคนทำสวนกาแฟต่อไป

ความคิดดีและใหม่ซึ่งกลายเป็นรูปธรรมทำให้ Castown กลายเป็นเครื่องดื่มชนิดแรกของบ้านเราที่เป็น ‘นวัตกรรม’ การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารระดับประเทศ

แต่นวัตกรรมที่ฟังดูยิ่งใหญ่ เมื่อถอดเปลือกออก มองให้เห็นถึงแก่นที่ฉันหลงรัก จะพบว่านี่คือสิ่งที่เกิดจากการหัดตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว แล้วลงมือทำ ลงมือแก้ปัญหา ด้วยองค์ความรู้และทักษะในมือ

ที่สำคัญ นี่คือการเข้าไปแก้ปัญหาที่อาจจะไม่ต้องลงมือแก้ก็ได้ ไม่ใช่ด้วยความคิดอยากเปลี่ยนแปลงโลกยิ่งใหญ่ แต่เพราะมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสัมพันธ์’    

“ผมแค่มองว่าจะช่วยคุณลุงที่สนิท ถ้าเราสนิทกับใคร รู้สึกดีต่อกัน ก็ต้องช่วยกัน ผมไม่ได้มองว่าเปลือกกาแฟจะทำเงินให้มหาศาล แค่คิดว่าเริ่มจากจุดเล็กๆ ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือคนรอบข้างให้อยู่รอด มีความสุขก่อน” บอมอธิบายสิ่งที่คิด

เพราะไม่ได้เริ่มจากกำไรเป็นตัวตั้ง Castown จึงตั้งใจจะไม่กลายเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่จะเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมปลารอบข้าง เริ่มจากชาวสวนกาแฟที่คุ้นเคย แม้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น Castown ก็ไม่ได้ใช้สิ่งนี้ในการต่อรองเพื่อกดราคา ตรงกันข้าม พวกเขายังคำนวณและให้ราคาเปลือกกาแฟที่ไม่เคยมีราคานี้อย่างยุติธรรม นอกจากนี้ โซดาคราฟต์เจ้าแรกของไทยยังตั้งใจไม่ส่งสินค้าขายในร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ แต่ขายให้ร้านเล็กๆ ที่ผูกพันกัน ชนิดว่าพอถึงปลายปี บอมก็ลงมือตัดธงริ้วส่งไปให้พวกเขาตกแต่งร้าน

ยิ่งกว่านั้น สูตรของ Castown ยังพร้อมจะเผยแพร่ให้ทุกคนที่สนใจ

“ใครอยากทำ มาเลย เดี๋ยวสอน” บอมยืนยัน “ผมถือว่ามีคนมาช่วยแก้ปัญหา ผมแก้คนเดียวไม่หมดหรอก หรือถ้าคิดว่าไปทำแบรนด์เองแล้วจะขายไม่ได้ ทำแล้วเอามาให้เรา เราก็รับซื้อ มันไม่ใช่การเป็นคู่แข่ง ผมคิดว่าก็มาช่วยกันทำ จะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ทั้งหมด”

เมื่อคิดถึงโซดาคราฟต์แสนอร่อยเจ้านี้ ฉันจึงเห็นสิ่งงดงามอื่นนอกจากรสชาติอีกมากมาย และไม่น่าแปลกที่เมื่อถามถึงช่วงเวลาประทับใจจาก Castown นี่จะเป็นคำตอบของผู้ก่อตั้งหนุ่ม

“วันที่ได้รางวัลนวัตกรรม กว่าเราจะมาถึงเชียงใหม่ก็เย็นแล้ว แต่เราก็แบก Castown ที่เหลือขึ้นดอยสะเก็ด เปิดให้ชาวบ้านกิน แล้วบอกเขาว่าต่อไปนี้จะเหนื่อยกันหน่อยนะ เอางานมาให้แล้ว ชาวบ้านก็ไปเรียกกันมาว่า เปลือกกาแฟขายได้แล้ว มากินสิ  มันเป็นช่วงเวลาที่หัวใจเราพองโต”

 

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก https://readthecloud.co/people-19/

ขอขอบคุณ คุณบอม บจก.อาราบิก้า เวิลด์ กรุ๊ป ที่ไว้ใจใช้ตู้แช่จากทางร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^

Visitors: 118,083