กาแฟขี้ชะมด Blue Gold Coffee

กาแฟขี้ชะมด 'Blue Gold' พลิกชีวิตติดลบ ผงาดเถ้าแก่ร้อยล้านวัยเพียง 23 ปี

เกียรติศักดิ์ คำวงษา หรือ น้องเฟรม เจ้าของธุรกิจกาแฟขี้ชะมด Blue Gold Coffee
 
เกียรติศักดิ์ คำวงษา หรือ น้องเฟรม เจ้าของธุรกิจกาแฟขี้ชะมด Blue Gold Coffee

รู้จักเด็กหนุ่มวัยเพียง 23 ปี ขึ้นแท่นนักธุรกิจร้อยล้าน จากกาแฟขี้ชะมดมาตรฐานส่งอออก ภายใต้แบรนด์ “Blue Gold Coffee” ที่ทุกวันนี้ยังผลิตไม่พอขาย เตรียมขยายพื้นที่เลี้ยงชะมดและเพาะพันธุ์เพิ่ม วาดฝันเปิดฟาร์มสวนสัตว์ ปั้นแหล่งท่องเที่ยวใหม่แห่งนครพนม
จากหนี้ทางธุรกิจจำนวน 50 ล้านบาท และปัญหาที่ถาโถมเข้ามา หลังจากที่ “เกียรติศักดิ์ คำวงษา” หรือน้องเฟรม ได้สูญเสียคุณพ่อไปจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ทำให้ในฐานะพี่ชายคนโต เรียนอยู่ชั้น ม.1 และมารดา ต้องแบกรับภาระดังกล่าวไว้ เดิมทีครอบครัวของน้องเฟรมทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่โดนผู้ว่าจ้างโกงค่าก่อสร้างทำให้เป็นหนี้ทันทีประมาณ 50 ล้านบาท และเมื่อบิดาเสียชีวิตลงก็ต้อง ย้ายออกจากบ้านที่พักอาศัยมาหลายปี พร้อมอุปกรณ์หนักในการก่อสร้าง เช่น รถไถนา เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง และอื่นๆ เนื่องจากเป็นที่ดินของป้า

กาแฟขี้ชะมด ชงด้วย Moka Pot
 
กาแฟขี้ชะมด ชงด้วย Moka Pot

ชีวิตของเขาต้องออกมาอยู่บ้านเช่าพร้อมอุปกรณ์ก่อสร้างที่มารดาหวังจะดำเนินธุรกิจนี้ต่อไป พร้อมแนะนำให้ลูกชายเลือกเรียนสายอาชีพด้านการก่อสร้าง ทำให้ความฝันที่อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องหยุดชะงักลง ซึ่งช่วงเรียน ปวช.ปี 1 เขาก็นำวิชาความรู้ขั้นพื้นฐาน มาผสานกับประสบการณ์ด้านก่อสร้างที่เคยติดตามบิดาไปดูงานนอกสถานที่เป็นประจำมารับงานก่อสร้างกับมารดา แต่ธุรกิจก็ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร โดนโกง เจอเล่ห์เหลี่ยมทำให้ธุรกิจไม่ได้กำไร ทำให้เขาเรียนรู้ว่าการทำธุรกิจนี้หากเป็นเด็ก ไม่มีอำนาจในการต่อรองถูกเอาเปรียบได้ง่าย ซึ่งบางครั้งเขายอมรับว่าต้องแต่งตัวให้ดูเกินอายุเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเกรงขาม

ไขเคล็ดลับ กาแฟขี้ชะมด เงินล้าน
 
ไขเคล็ดลับ กาแฟขี้ชะมด เงินล้าน

แต่สุดท้ายหากมองในระยะยาวธุรกิจก่อสร้างอาจไม่ใช่อาชีพที่ตอบโจทย์ในเรื่องรายได้ที่ยั่งยืนของครอบครัวเขาได้ จึงเริ่มหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตว่าในขณะนั้นเทรนด์อะไรที่มาแรงและกำลังได้รับความนิยม กระทั่งเจอข้อมูลที่ว่า มีกลุ่มคนไทยส่วนหนึ่งนิยมสั่งกาแฟขี้ชะมดมาจากประเทศอินโดนีเซีย เขาจึงศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยที่ยังไม่รู้จักหน้าตาของชะมดด้วยซ้ำ

เมื่อเห็นหน้าตาของชะมดแล้ว ทำให้เขานึกถึงตัวอีเห็นที่เคยเลี้ยงตอนเด็ก ให้ตัวอีเห็นกินอะไรเข้าไปอึมันจะหอม จึงซื้อตัวชะมดมาเลี้ยงประมาณ 2 คู่ และส่งไปให้เพื่อนแม่ที่มีไร่กาแฟอยู่ จ.เลย เลี้ยงให้ โดยให้กินแต่ผลกาแฟสุกสีแดง และนำอึมาลองคั่วก็ยังไม่หอมเท่าที่ควร เขาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนได้สูตรการคั่วที่ลงตัว คือ ต้องนำไปตากแดดก่อนประมาณ 20 วัน เพื่อไล่ความชื้นและนำมาคั่วจะได้กลิ่นและรสชาติที่หอมละมุน

น้องเฟรม กับคตุณแม่ ที่สู้ชีวิตมาด้วยกัน
 
น้องเฟรม กับคตุณแม่ ที่สู้ชีวิตมาด้วยกัน

จากนั้นเขาตัดสินใจซื้อต้นกาแฟมาปลูกที่ จ.นครพนม ทำสต็อกกาแฟขี้ชะมดไว้ประมาณ 2 ปี เพื่อลองตลาด เพราะกว่าจะได้กาแฟขี้ชะมดสำหรับบริโภคจะมีน้อยมาก กล่าวคือ อึของชะมด 1 ตัว ให้ผลผลิตประมาณ 1.6 กก./ปี เมื่อนำไปตากกแดดจะเหลือ 1 กก. จากนั้นนำไปคั่วและบดจะเหลือเพียง 800 กรัมเท่านั้น ขณะที่ผลผลิตของกาแฟที่ออกผลสุกจะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่วนนอกฤดูกาลก็จะให้กินผลไม้อื่นๆ แทน โดยที่อึของชะมดไม่สามารถนำมาทำกาแฟได้ ทำให้ปัจจุบันวัตถุดิบยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

“ผมยอมรับว่าในช่วงเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ตลาดเงียบมากเพราะคนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก จึงได้เข้าไปปรึกษาอาจารย์ที่ ม.กรุงเทพ ซึ่งผมเลือกเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งอาจารย์ก็แนะนำว่าต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องของรสชาติและกลิ่น ที่ต้องโดดเด่นกว่านี้ สุดท้ายมาจบที่วิธีการชงด้วย Moka Pot หรือกาต้มกาแฟสด ซึ่งเป็นกระบวนการชงที่จะสามารถดึงรสชาติของความหอมของกาแฟออกมาได้ดีที่สุด และยังไม่มีใครใช้วิธีนี้นำมาชงกาแฟขี้ชะมด โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Blue Gold”

กาแฟขี้ชะมดที่ผ่านมาคั่วแล้ว
 
กาแฟขี้ชะมดที่ผ่านมาคั่วแล้ว

กระทั่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้กาแฟขี้ชะมดของเขาได้แจ้งเกิดคือ มีลูกค้าโชว์รูมรถหรูแบรนด์ดัง มาสั่งเป็นแพคเกจในกล่องไม้ ที่ในนั้นจัดเซตกาต้มกาแฟ (Moka Pot) และกาแฟขี้ชะมดเกรดพรีเมียมไว้ สำหรับแจกลูกค้าวีไอพีจำนวน 200 กล่อง และยังเลือกใช้กาแฟ Blue Gold เสิร์ฟลูกค้าด้วย ทำให้เกิดปรากฏการณ์บอกปากต่อปาก พร้อมเสียงเรียกร้องให้เปิดร้านกาแฟ ซึ่งเขาตัดสินใจเปิดร้านย่านรามอินทรา ติดกับห้างเซ็นทรัลอีสวิลล์ ตั้งชื่อร้านว่า Blue Gold Coffee เพื่อให้ลูกค้าที่ชื่นชอบในกาแฟขี้ชะมด และเครื่องดื่มทั่วไปได้เข้ามาลิ้มลองง่ายขึ้น

กาแฟขี้ชะมดตากแห้ง
 
กาแฟขี้ชะมดตากแห้ง

“ตอนนี้เราเลี้ยงชะมดไว้ประมาณ 300-400 ตัว ขยายพันธุ์เพิ่มปีละ 50-60 ตัว เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ซึ่งผมตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 1,000 ตัวภายใน 1-2 ปีนี้ เพื่อรองรับการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น 'กาแฟชี้ชะมดบรรจุกระป๋อง' โดยนำกาแฟขี้ชะมดมาผสมกับกาแฟธรรมดา แต่เมื่อได้ลิ้มลองจะสัมผัสได้ถึงความเป็นกาแฟขี้ชะมดอย่างแท้จริงขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น รวมถึงยังทำราคาให้แข่งขันได้ จากเดิมหากเป็นกาแฟขี้ชะมด 100% ที่ลูกค้านำไปชงเองราคากล่องละ 1,000 บาท ขนาด 27 กรัม ชงได้ 4 แก้ว เท่านั้น”

กาแฟขี้ชะมดเกรดพรีเมียม
 
กาแฟขี้ชะมดเกรดพรีเมียม

 

เมื่อการเลี้ยงชะมดแบบปล่อยอิสระทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น รวมถึงการขยายพันธุ์ของชะมดก็เพิ่มกว่าปกติ ทำให้น้องเฟรม มีความมั่นใจขึ้นในเรื่องผลผลิตรองรับการขยายตลาดในอนาคต โดยเขาหวังแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดกาแฟพรีเมียมประมาณ 10% จากกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 500-600 กก./ปี

บรรยากาศภายในร้าน Blue Gold Coffee ข้างเซ็นทรัลอีสวิลล์
 
บรรยากาศภายในร้าน Blue Gold Coffee ข้างเซ็นทรัลอีสวิลล์
 
 

จากการเลี้ยงชะมดในเชิงธุรกิจเพื่อนำผลผลิตจากขี้ชะมดมาเพิ่มมูลค่า กลายเป็นความได้เปรียบที่ทำให้เขาสามารถต่อยอดธุรกิจจากฟาร์มชะมดได้ โดยเขาวาดฝันเนรมิตพื้นที่บางส่วนของฟาร์มทำเป็น 'สวนสัตว์' ที่นอกจากผู้เข้าชมจะได้สัมผัสชะมดแบบใกล้ชิดแล้ว ยังเพลิดเพลินไปกับสัตว์ชนิดอื่น อย่าง ม้า ที่ขณะนี้มีกว่า 30 ตัวแล้ว รวมถึงเตรียมสร้างรีสอร์ทเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.นครพนม

เครื่องดื่มอื่นๆ ก็มีให้เลือกสรร
 
เครื่องดื่มอื่นๆ ก็มีให้เลือกสรร

นำเศษวัสดุก่อสร้างที่เหลือมาสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อครั้งครอบครัวน้องเฟรมถูกระเห็จออกจากบ้าน
 
นำเศษวัสดุก่อสร้างที่เหลือมาสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อครั้งครอบครัวน้องเฟรมถูกระเห็จออกจากบ้าน

เรียกได้ว่าตลาดกาแฟขี้ชะมดยังเปิดกว้าง อยู่ที่ว่าใครจะรังสรรค์รสชาติออกมาได้ถูกใจคอกาแฟเกรดพรีเมียม ที่พร้อมควักกระเป๋าจ่ายให้กับสินค้าคุณภาพอย่าง “กาแฟขี้ชะมด” ของไทย

***สนใจติดต่อ 08-7584-1183 หรือที่ Facebook: กาแฟขี้ชะมด BlueGold Coffee***
 
ขอบคุณเรื่องราวดีๆจากเพจ mgronline
่ขอบคุณร้านกาแฟขี้ชะมด Bluegold Coffee ที่ไว้ใจใช้ตู้แช่จากทางร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^
Visitors: 125,104