ชาพะยอม
เปิดประวัติ ชาพะยอม จากร้านชาเล็กๆ ริมถนน สู่คีออสแบรนด์ดัง พันกว่าสาขาทั่วประเทศ
ปัจจุบัน ร้านขายเครื่องดื่ม อาทิ ร้านคาเฟ่ หรือแม้กระทั่งร้านน้ำชง อย่างร้านชานมไข่มุก ทั้งรถเข็น คีออส สแตนด์อะโลน มีให้เห็นมากหน้าหลายแบรนด์เต็มไปหมด อีกทั้งมีแต่คนกล่าวว่า จะทำของกินขาย รสชาติมันต้องได้ เพราะถ้ารสชาติไม่ได้ มันจะไปต่อยาก แล้วไหนจะการตลาดที่แข่งขันกันด้านราคาอย่างดุเดือดเลือดพล่าน เพื่อครองใจผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดอีกเล่า
ซึ่งถ้าไม่พูดถึง ชาพะยอม ก็คงไม่ได้ เพราะถือเป็นร้านชาแบรนด์ไทยแบรนด์หนึ่ง ที่มีสาขาทั่วประเทศถึง 1,000 กว่าสาขา โดยเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณแต๊ะ-กัณห์ ไตรจันทร์ เจ้าของแบรนด์ชาพะยอม รุ่นที่ 2 ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของร้านชาที่เหมือนจะธรรมดา แต่ไม่ธรรมดานี้กัน
“ร้านเริ่มก่อตั้งมาได้ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยมีคุณพ่อคณน ไตรจันทร์ เป็นผู้ก่อตั้ง เดิมทีคุณพ่อเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัย อีกทั้งด้วยความที่ทางบ้านเป็นคนใต้ เมื่อมีงานหรือเทศกาลต่างๆ ขึ้นมาทีไร ก็มักจะนำเครื่องดื่มอย่าง ชาเย็น มาทำทานกันบ่อยๆ คุณพ่อผมก็ผสมสูตรนั้นสูตรนี้ของเขา จนได้สูตรที่ลงตัวและค่อนข้างทานง่าย แล้วท่านก็เหมือนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ขึ้นมาว่า งั้นมาเปิดร้านเป็นร้านชาเย็นไปเลยแล้วกัน ขายง่ายๆ ร้านชาพะยอม เลยถือกำเนิดขึ้น โดยเปิดที่หาดใหญ่เป็นที่แรก” คุณแต๊ะ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้านชาพะยอม
เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 เล่าต่อว่า ตอนนั้นร้านชาพะยอมเป็นร้านโล่งๆ ที่ไม่มีแบรนด์อะไรทั้งสิ้น โดยชื่อ ชาพะยอม มาแรงบันดาลใจมาจากดอกพะยอม ที่เป็นชื่อดอกไม้ประจำจังหวัดพัทลุง เพราะคุณพ่อและครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดพัทลุง อีกทั้งคนไทยเป็นคนพูดง่าย เข้าใจง่าย ไม่ต้องตั้งเป็นชื่อภาษาอังกฤษให้จำยาก
“คนในหาดใหญ่ก็จะติดร้านนี้เยอะมาก ทั้งๆ ที่ร้านก็ไม่ได้มีหน้าตาที่สวยงามอะไร แล้วด้วยความที่รสชาติมีความยูนีกกว่าเจ้าอื่นๆ และ เราเองก็เป็นร้านชาที่มีมาตรฐานประมาณหนึ่ง กล้าพูดได้เลยว่า เราเป็นเจ้าแรกที่ทำให้ชาเย็นทุกแก้ว มีรสชาติเหมือนกัน คือสมัยก่อน การจะสกัดชาเย็นออกมาสักหนึ่งครั้ง มันจะใช้ความเป็นแมน่วล ชงในถุงชา มันไม่มีการตวงวัดอะไรที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งมันมีข้อเสียตรงที่ว่า คนที่ได้หัวชาหรือชาแรก จะได้กลิ่นของเครื่องดื่มแบบหนึ่ง ส่วนคนที่ได้หางชา หรือ ชาที่ผ่านการต้มการโดนน้ำร้อนมาหลายรอบ ก็จะได้กลิ่นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นว่ามันไม่ได้มีมาตรฐานในการทำชาเย็น” คุณแต๊ะ กล่าว
จากการบอกเล่าของคุณแต๊ะ คุณคณนได้หานวัตกรรมง่ายๆ มาแก้ปัญหาในจุดนี้ คือหม้อต้มน้ำที่สกัดไว้ตั้งแต่เช้า สามารถใช้ได้เรื่อยๆ จนถึงเที่ยง เมื่อหมดก็สกัดมาใช้ใหม่ จึงทำให้รสชาติของชาพะยอมเป็นมาตรฐาน และเกิดเป็นสโลแกนร้านที่ว่า แก้วไหนก็อร่อย ในราคาเดียว 25 บาท
ดำเนินธุรกิจมา 1-2 ปี ร้านเล็กๆ พื้นที่ 6 ตารางเมตรนี้ ก็เริ่มขายดี วันหนึ่งขายได้ประมาณ 200-300 แก้ว ซึ่งหากมาคำนวณยอดจริงๆ ถือว่าค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว
“ทำได้ปีสองปี ก็เริ่มมีคนเข้ามาติดต่อ ถามหาแฟรนไชส์ แน่นอนว่าคนเราเมื่อเห็นธุรกิจไหนที่มันค่อนข้างขายดีและมีความเป็นไปได้ ก็จะเริ่มสนใจแฟรนไชส์ตอนนั้นคุณพ่อก็เริ่มคิดแล้วว่า จะทำร้านเป็นแฟรนไชส์ยังไงดี เพราะเริ่มมีคนถามหาประมาณ 4-5 คนแล้ว คนเริ่มจำแล้วว่า ชาพะยอมมีรสชาติชาที่ดีนะ ตรงนั้นมันก็คือโอกาสที่เราจะเติบโต คุณพ่อเลยเริ่มคิดจริงจัง หาช่างออกแบบร้าน หากราฟิกดีไซน์ให้ช่วยคิดแบรนด์สโลแกน สี โลโก้ เพื่อสร้างภาพจำให้คนมากที่สุด โดยยกระดับชาข้างถนนที่เห็นกันอยู่ทุกวัน เอามาเป็นคีออสที่คนจับต้องได้ พูดง่ายๆ คือ สร้างการรับรู้แบรนด์ของคนไปเลยว่า ชาพะยอมไม่ใช่ร้านชาข้างทาง แต่มันคือชาที่มีแบรนด์” เจ้าของรุ่น 2 ว่ามาอย่างนั้น
ซึ่งเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว คุณแต๊ะ เล่าว่า การจะเปิดร้านชาพะยอมขึ้นสักสาขา จะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาท โดยทางแบรนด์จะมีการเทรนด์ ให้ผู้ที่สนใจเข้าอบรม และให้วัตถุดิบในการเปิดร้านประมาณหนึ่ง แต่หน้าร้านต่างๆ ลูกค้าต้องออกเงินตัวเอง
ซึ่งชาพะยอมจะมีการทำโปรโมชั่นในการขายแฟรนไชส์ทุกๆ 6 เดือน แต่ปัจจุบันการจะเป็นเจ้าของสาขาของร้านชาพะยอมมีแพ็กเกจให้เลือกอยู่ด้วยกัน 3 แพ็กเกจ คือ 1. แบบราคา 79,000 บาท โดยที่ได้อุปกรณ์สำหรับเปิดร้าน 1 ชุด และทางลูกค้าต้องทำคีออสเอาเอง 2. แพ็กเกจ 99,000 บาท ก็จะได้เคาน์เตอร์เลย ซึ่งสามารถไปวางได้ ในพวกช็อปปิ้งมอลล์ ขึ้นห้างได้ และ 3. แพ็กเกจราคา 109,000 บาท เป็นซุ้มระบบปิด ที่สามารถปิดร้านได้ด้วย มีกันฝน มีพัดลมในตัว
ชายหนุ่มยังเล่าต่อว่า เดิมที่เมนูต่างๆ ของร้านมีให้เลือกทานกว่า 20 เมนู แต่เนื่องด้วยปัจจุบัน มีการแข่งขันที่สูง ทั้งในเรื่องของแบรนด์หน้าใหม่ที่เกิดขึ้นและเรื่องของราคา จึงทำให้ทางร้านมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40 กว่าเมนู แล้วแต่ว่าแต่ละร้านจะเลือกใช้เมนูใด ตามโลเกชั่นหรือขนาดของร้าน
“บางคนมีคีออสใหญ่ ก็สามารถเปิดได้หลายเมนู เพราะระบบเขาพร้อม แต่บางสาขามีขนาดเล็ก ก็จะได้ไม่กี่เมนู อาจจะมีไข่มุกหรือเมนูใหม่ๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้ครบเซต ซึ่งสุดท้าย สิ่งที่ขายดีสุดคือ ชาเย็น ชาเขียว โกโก้ ซึ่งเรียกว่าเป็นเมนูซิกเนเจอร์ ที่ผมว่าร้านไหนๆ ก็หนีไม่พ้น แต่ว่าที่ร้านชาพะยอมจำเป็นต้องมีเมนูใหม่เรื่อยๆ เพื่อการตลาดและเป็นการสร้างการรับรู้ของคนว่า แบรนด์เรายังมีเมนูใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ นะ และขายราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท” ชายหนุ่มคนเดิม กล่าว
คุณแต๊ะให้เหตุผลที่ราคาของร้านชาพะยอมไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนว่า ทางแบรนด์อยากให้ลูกค้าได้กินของดีๆในราคาไม่แพง หากถ้าเริ่มตั้งแต่ราคาที่ 35-45 บาท ชาพะยอมอาจจะไม่ได้มายืนถึงจุดนี้
“จริงๆ ต้นทุนก็อยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ สมมติ แก้วละ 25 บาท ต้นทุนจะอยู่ที่ 10 บาทกว่าๆ แล้วครับ แต่เราอาศัยหลักการขายได้เยอะๆ เน้นจำนวน มันก็ทำให้เราอยู่ได้ รายได้ก็เฉลี่ยๆ กันไปกับเมนูอื่น เพราะชาเรามีหลายเมนู ทั้งชาเขียว ชาเย็น โกโก้ ซึ่งบางเมนูต้นทุนมันสูงกว่าที่บอกไป แต่ก็ถัวๆ กันไป”
ถามถึงการเข้ามาบริหารแบรนด์ต่อจากคุณพ่อ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เจ้าของแบรนด์รุ่น 2 กล่าวว่า โดยส่วนตัว เขาเข้ามาบริหารแบรนด์ได้เกือบ 3 ปีแล้ว หลักๆ ก็เข้ามาแก้ระบบหลังบ้านเสียมากกว่า เพราะตนอยากให้แบรนด์โกอินเตอร์ไปในระดับโลก แต่ด้วยระบบหลังบ้านยังไม่ได้พร้อมหลายๆ เรื่อง ณ ตอนนั้น ก็เริ่มมาพัฒนาระบบหลังบ้านใหม่ทั้งหมด บวกกับเริ่มใส่ความเป็นมาร์เก็ตติ้งเข้ามา เช่น มีเมนูใหม่ๆ มีแก้วลายใหม่ หรือการไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศด้วย
“จริงๆ ชาพะยอมเราไม่ได้แพลนเอาไว้ว่าจะตีตลาดต่างประเทศเยอะแยะมากมาย แต่มีคนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อแฟรนไชส์เราไปค่อนข้างเยอะ ทั้งมาเลเซีย บรูไน พม่า กัมพูชา ซึ่งพูดตรงๆ ผมก็แปลกใจ เพราะเราทำแค่ในไทยเอง แต่เขาก็บอกว่าที่บ้านเขาชาเย็นเป็นอะไรที่ป๊อปมากในร้านอาหารไทย แต่มันยังไม่มีการเผยแพร่อย่างชัดเจน ยังไม่มีคีออสที่เป็นชาไทยไปเปิดเลย แล้วเขามาเที่ยวเขาเห็นร้านชาพะยอมเยอะมาก จึงมองเห็นช่องว่างทางการตลาดตรงนี้ เลยติดต่อเข้ามา ปัจจุบัน ชาพะยอมในต่างประเทศ มีประเทศละหลักหน่วยสาขา โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา ที่มีสาขาค่อนข้างเยอะ แล้วก็กำลังจะเปิดสาขาใหม่ที่มาเลเซียแต่ติดโควิด เลยชะลอไปก่อน” เจ้าของแบรนด์รุ่น 2 ว่าอย่างนั้น
คุณแต๊ะยังเผยอีกว่า แม้หลายๆ ประเทศจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า กลับกัน ร้านชาพะยอมในไทยแทบไม่ได้กระทบเลย เพราะจุดยืนของแบรนด์ที่ว่า เป็นเครื่องดื่มที่สามารถซื้อดื่มได้ทุกวัน แม้กระทั่งโควิด
“คือทุกร้านมันอยู่ในแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ เขาก็สามารถสั่งได้จากแอพดีลิเวอรี่ต่างๆ ได้ บ้านเราก็มีหลากหลายเจ้า เลยกลายเป็นว่า ในประเทศเราไม่ได้กระทบเยอะเท่าไหร่นัก ด้วยความว่าแบรนด์ไม่ได้ขายความแฟชั่น แต่เน้นขายแบบกินได้ทุกวัน ในด้านตัวเลข มันเท่ากับเดือนก่อนหน้าเลย ก็ตกใจนิดหน่อย แต่มันน่าจะเป็นเพราะว่าเราขายกินทุกวันในราคา 25 บาท ซึ่งคนเขาก็สามารถซื้อกันได้อยู่แล้ว เลยทำให้แบรนด์เราไม่ได้กระทบมากเท่าคนอื่น” ชายหนุ่ม กล่าว
นอกจากจะเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีในต่างจังหวัดและต่างประเทศ แต่กลับกัน หลายๆ คน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เพิ่งมีโอกาสได้รู้จักกับแบรนด์ ชาพะยอม ชายหนุ่มไขข้อสงสัยนี้ว่า ชาพะยอมเพิ่งมาเป็นที่รู้จักในกรุงเทพฯ ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เพราะส่วนใหญ่จะซื้อแฟรนไชส์ขายกันแถวใต้มากกว่า ซึ่งชายหนุ่มเรียกมันว่า วิธีป่าล้อมเมือง
“ผมเรียกวิธีนี้ว่าป่าล้อมเมืองมากกว่า คือ เราไปภาคเหนือ ใต้ อีสานมาหมดแล้ว แล้วค่อยเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดท้ายๆ เลย พอคนกรุงเทพฯ เริ่มเห็นว่า ในต่างจังหวัดมันเริ่มบูม เขาก็จะสนใจว่า มันสามารถเอามาเปิดที่กรุงเทพฯ บ้างได้ไหมอะไรแบบนี้ แล้วก็ค่อยๆ กระจายไป”
“ตอนนี้โจทย์ที่อยากทำคือ ต่อไปทั้งในระดับเมืองไทยและต่างประเทศ ถ้านึกถึงชาเย็น ต้องนึกถึงชาพะยอม เข้ามาในหัวเป็นอันดับแรก เป็นชาที่จับต้องได้และกินได้ทุกวัน และอาจจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น สินค้าที่ดื่มได้เลย ไม่ใช่แค่เฟรนไชส์ที่ขายหน้าร้านแล้ว ชาพะยอมอาจจะไปอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรืออยู่ในที่อื่นๆ เพราะในต่างประเทศแถบเอเชีย ตามหัวเมืองจะรู้จักชาไทยกันหมด ซึ่ง ญี่ปุ่น เกาหลี โดยเฉพาะคนจีนน่ะชอบกินชาไทยกันมาก ชาพะยอมเองก็ได้เรื่องการรับรู้แบรนด์ของคน คนต่างประเทศที่มาซื้อแฟรนไชส์ชาไทย เขาก็นึกถึงชาพะยอม มันเลยทำให้เราคิดว่าเราน่าจะไปในระดับโลกได้มากกว่านี้ ทำให้ต่างประเทศรู้จักไทยที่มากกว่านี้ได้ ที่แพลนเอาไว้ครับ” คุณแต๊ะ กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณบทความดีๆจากเพจ sentangsedtee ครับ
ขอขอบคุณ คุณอัยวัลย์ ร้านชาพะยอม สาขา อัมรินทร์พลาซ่า ชั้น 1 และ คุณชยานิษฐ์ ร้านชาพะยอม ซอยรังสิตภิรมย์ ที่ไว้ใจใช้ตู้แช่จากทางร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^