Le Lapin

 

เปิดประสบการณ์การทานอาหารสไตล์ chef's table กับเชฟแก้วและเชฟผึ้ง โดยก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเชฟแก้วกันสักนิด

 

“ใครก็คิดว่าคนแบบแก้วไม่มีอยู่จริง” ปอกเปลือกเมนูชื่อความอ่อนแอของ ‘แก้ว-ปวีณ์นุช’ MasterChef Thailand คนแรก

 

‘ผ้าโพกหัว กะทิ คนเจ้าน้ำตา’ คือ 3 คำที่พอจะนิยามคาแรกเตอร์ทั้งหมดของ ‘แก้ว-ปวีณ์นุช ยอดปรีชาวิจิตร’ แชมป์คนแรกของรายการทำอาหารชื่อดังลิขสิทธิ์เมืองนอกอย่าง MasterChef Thailand ที่เพิ่งจะลาจอเจ็ดสีไปไม่นานนัก ในฐานะแฟนรายการคนหนึ่งนอกจากจะต้องติดตามความเข้มข้นของการแข่งขันแล้ว แก้วยังเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่เราติดตามติฉินนินทาเธออยู่เสมอ แต่ในที่นี้ไม่ใช่เพราะว่าเธอไม่เก่งแต่อย่างใด แต่ด้วยความเป็นผู้หญิงน่าทะนุถนอม บอบบาง อ่อนแอ และดู ‘ไม่จริง’ ของเธอต่างหากที่ดึงดูดเราให้คอยชมเธอในรายการ

     แต่ด้วยความสามารถและทักษะการทำอาหารของเธอ ทำให้ผู้ชมอย่างเราตื่นเต้นในทุกๆ สัปดาห์ สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ แปรเปลี่ยนแง่ลบเป็นความชื่นชอบ จนเราต้องคอยตามเชียร์เธอจนถึงวันประกาศผล และในวันที่เธอได้แชมป์เรากลับพบว่าเธอก็เป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นเชฟ เธอพิสูจน์ตัวเองว่าความอ่อนแอและบอบบางหาได้เป็นอุปสรรคสำหรับตำแหน่งนี้

     เราถือโอกาสคุยกับเธอทั้งในฐานะแชมป์ของรายการ และในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่งที่โดนค่อนขอดจากแฟนรายการเสมอ ซึ่งก็น่าประหลาด เพราะสิ่งที่เธอโดนค่อนขอดกลับไม่ใช่ความสามารถ แต่เป็นคาแรกเตอร์ของเธอไปเสีย!

 

 

     “ดูเหมือนยุคนี้ผู้บริโภคสื่อจะไม่ค่อยปลาบปลื้มผู้หญิงเรียบร้อย อ่อนแอ ไปแล้วหรือเปล่า” ผมตั้งประเด็นแรกนี้ขึ้นมาเพื่อให้แก้วได้ลองอธิบายตัวเองดู

     “แก้วว่าไม่นะ แต่คนก็มักจะพูดว่า พวกเขาไม่เชื่อว่าคนแบบแก้วมีอยู่จริงๆ” คำตอบแรกของเธอก็ทำผมรู้สึกสนใจเธอมากขึ้น ผมเองก็แปลกใจว่าทำไมผู้หญิงแบบแก้วโดนผู้ชมจิกกัดและค่อนขอดไปเสียทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องกิริยาที่อรชรเกินเรื่อง ไปจนถึงผ้าโพกหัวที่ดูรกหูรกตา

     “แก้วก็เป็นแก้วแบบนี้ เป็นแบบนี้จริงๆ เมื่อตอนก่อนที่จะเข้าเรียนที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เราเป็นคนเงียบกว่านี้ เราเป็นคนมองโลกในแง่ดีไปซะหมด เหมือนยังอยู่ในโลกของดิสนีย์ ยังไม่ออกมา (หัวเราะ) แต่พอโตขึ้นเราก็สำรวจตัวเองนะ จริงๆ เราเป็นคนเซนซิทีฟมาก เราเป็นคนอินกับสถานการณ์ได้ง่าย อย่างในรายการที่ร้องไห้หรือแสดงกิริยาอะไรออกมา มันก็คือแก้ว คือพอยิ่งแข่งขันมันก็กลายเป็นตัวเราลงไปอยู่ในนั้นแล้ว เราเอาตัวเองลงไปในเรื่องราวนั้นๆ และเราไม่ได้แสดง”

     ก็เป็นอย่างที่แก้วพูดจริงๆ เพราะเธอก็เป็นคนปกติสามัญทั่วไป เห็นในจอแบบไหน นอกจอก็เป็นแบบนั้นจริงๆ จนบางทีก็แอบคิดว่านิ่งและเรียบร้อยเกินมนุษย์มนาไปหน่อยหรือไม่?

     “คำหยาบแก้วก็พูด แต่ก็ไม่ได้พูดบ่อยนะ ส่วนใหญ่อุทานมากกว่า”

     “ขอฟังคำที่หยาบที่สุดในชีวิตที่พูดได้ไหม?” ผมถามเธอ

     “เชี่ย! (หัวเราะ)”

     “หยาบสุดแล้วใช่ไหม?” ผมถามย้ำกลั้วหัวเราะ

     “ใช่ค่ะ เผลอพูดในรายการบ่อยด้วยความตกใจ (หัวเราะ)” แก้วตอบผมซึ่งนั่นก็เป็นช่วงเริ่มต้นบทสนทนาที่ดีระหว่างผมกับเธอ และมากกว่านั้นคือวัยที่ใกล้เคียงกันยิ่งทำให้เราดูจะกะเทาะกำแพงต่อกันได้อย่างรวดเร็ว

 

 

“จริงๆ เราเป็นคนเซนซิทีฟมาก เราเป็นคนอินกับสถานการณ์ได้ง่าย อย่างในรายการที่ร้องไห้หรือแสดงกิริยาอะไรออกมา มันก็คือแก้ว เราไม่ได้แสดง”

  

 

     “ถ้าถามว่าตอนไหนที่รู้สึกว่าทำอาหารสนุกจังเลย คงเป็นตอนที่เราทำอาหารกับน้องชาย…”

     ผมเริ่มถามเธอถึงจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำอาหาร

     “เรานั่งดูการ์ตูนกับน้องชายที่ห่างกัน 6 ปี ตอนนั้นดู ทรามวัยกับไอ้ตูบ (Lady and the Tramp) ซึ่งมันจะมีซีนจำที่หมาสองตัวกินสปาเกตตีด้วยกัน แล้วน้องชายของแก้วก็เกิดอยากกินขึ้นมา เราก็ถาม ‘อยากกินสปาเกตตีเหรอ’ แต่ในใจก็คิดว่า ‘ทำไงดี’ เราก็เลยเข้าครัว”

     “สปาเกตตีตอน 9 ขวบคงรสชาติพิลึกน่าดู” ผมตั้งข้อสงสัย

     “ค่ะ (หัวเราะ) เส้นไม่สุกด้วยนะ ไม่ได้ใส่น้ำมันอะไรเลยตอนต้ม น้ำก็ไม่เดือด สุดท้ายออกมาเป็นสปาเกตตีมะเขือเทศ มีแครอตและหมูสับ หน้าตาดูเน่าๆ”

     “แล้วเริ่มทำอาหารแบบจริงจังครั้งแรกเมื่อไหร่?” ผมถามเธอต่อ

     “ตอนนั้นแก้วไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของโครงการ AFS ที่เยอรมนี ซึ่งคนที่นู่นเขาทำอาหารกินกันเอง เราเลยคิดว่าเราก็คงต้องทำแหละ พอทำจริงๆ การทำอาหารมันก็สนุกดีนะ และเราก็เป็นคนติดบ้านเมื่อเทียบกับเด็กแลกเปลี่ยนคนอื่นๆ เราก็อยู่บ้านโฮสต์ซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาทำนู่นทำนี่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปโดยปริยาย”

 

 

     เมื่อเริ่มต้นการแข่งขันในรายการ ดูเหมือนว่าเธอจะไม่ได้พกแค่ความสามารถของเธอมาอย่างเดียว แต่เธอยังพกภาระทางความรู้สึกของเธอมาเผื่อแผ่ให้กับกรรมการและคนดูด้วย ในแง่ที่ว่าถึงความดราม่าในแบบฉบับไทยๆ ประเด็นอย่างการที่ครอบครัวไม่สนับสนุนบ้าง หรือคาแรกเตอร์ของเธอที่เป็นผู้หญิงอ่อนแอดูน่าสงสารแบบสุวนันท์สไตล์

     “ในตอนแรกๆ ที่บ้านแก้วจะไม่สนับสนุน คือผู้ใหญ่เขาคงมีชุดความคิดบางอย่างที่ว่างานนี้มันหนักและเหนื่อยมากแน่ๆ คงไม่เหมาะกับผู้หญิงและคนอ่อนแอ แต่สำหรับแก้ว แก้วว่าคนเราถ้าชอบอะไรมันก็ทำได้ ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็เท่ากันหมดแหละ” เธอตอบอย่างมั่นใจ

     “หรือเป็นเพราะผู้ใหญ่จะมองว่าวัยรุ่นในยุคนี้ เจเนอเรชันนี้มีความเหลาะแหละไม่เอาไหน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหรือเปล่า? เขาจึงกังวลเป็นพิเศษ” ผมถามความเห็นเธอต่อจากประเด็นดังกล่าว

     “คนวัยเราหรอ? แก้วไม่คิดว่ามันเป็นอย่างนั้นนะ เราเข้าใจมากกว่าเพราะว่าคนในยุคพ่อแม่ คือยุคที่พวกเขาต้องทำงานหนัก ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว พอพวกเขาสร้างทุกอย่างไว้ให้คนรุ่นเราแล้ว เหมือนเปิดโอกาสให้เราสามารถที่จะมีความฝันได้ มันก็เลยดูเหมือนเรากำลังค้นหาตัวเองตลอดเวลา แต่มันดีนะถ้าเราหาสิ่งที่เรารักเจอ เพราะเราจะรักมันและทำในสิ่งนั้นได้ดีมากกว่าสิ่งอื่นๆ เราคิดแบบนี้มากกว่า ไม่ใช่เรื่องของความเหลาะแหละหรอก”

 

 

“มันดีนะถ้าเราหาสิ่งที่เรารักเจอ เพราะเราจะรักมันและทำในสิ่งนั้นได้ดีมากกว่าสิ่งอื่นๆ”

  

 

     “แก้วฝึกฝนเยอะมาก ทั้งก่อนและระหว่างที่ถ่ายทำรายการนี้”

     ผมถามคำถามที่นำมาสู่เรื่องราวของอาหาร และการได้ตำแหน่งแชมป์ของเธอ จากผู้หญิงตัวบางๆ ที่เป็นแฟนรายการทำอาหาร จากคนที่ชอบทำอาหาร จนก้าวเข้ามาแข่งขัน และในวันนี้ที่เธอครองตำแหน่ง MasterChef คนแรกของประเทศ และกำลังจะมี cookbook ตำราอาหารที่เป็นของเธอเอง!

     “อย่างการซ้อมใช้มีด เราซ้อมบ่อยมาก ซื้อหัวหอมมาเป็นถุงใหญ่ๆ เลย เราก็หั่นอยู่อย่างนั้นเพื่อซ้อม และจริงๆ แล้วเราเป็นคนกลัวมีด แต่ยิ่งทำมากขึ้น มันยิ่งทำให้เราเห็นตัวเองว่าทำได้ดีขึ้น และดีขึ้นไปเรื่อยๆ เราไม่ได้เป็นคนที่มีพื้นฐานขนาดนั้น เราเรียนแค่คอร์สทำอาหารสั้นๆ มา แต่พื้นฐานเลยคือเราเป็นคนชอบเอาชนะ”

     เราแอบเซอร์ไพรส์ถึงความเป็นคน ‘อยากเอาชนะ’ และ ‘ชอบการแข่งขัน’ ของแก้วมาก ซึ่งมันช่างขัดกับสิ่งที่เราเห็นตรงหน้าเหลือเกิน

     “เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เราเห็นแก้วทำในรายการ คือประสบการณ์ใหม่ที่แก้วอยากเอาชนะทั้งหมดเลยใช่หรือไม่?” ผมถาม

     “ใช่ค่ะ แก้วอยากเอาชนะตัวเอง อยากเอาชนะความท้าทาย แก้วไม่เคยใช้เลยนะไอ้เครื่อง sous vide (เครื่องทำอาหารแรงดันสุญญากาศ) และเตาถ่าน เราก็มาฝึกใช้ มันสนุกมาก เราเองก็ไม่คิดว่าจะได้ทำล็อบสเตอร์ ได้แล่แซลมอน แต่เราก็ผ่านมาได้

     “แต่สิ่งที่แก้วศึกษาเพิ่มเติมเยอะมาก คือศึกษาอาหารไทย บอกตรงๆ ว่าก่อนเข้ารายการยังตำน้ำพริกไม่เป็นเลย ฝึกตำพริกแกงเอง หาสูตร ตำเสร็จแล้วก็ให้พ่อแม่กิน พ่อแม่ก็ถาม ‘มันใช่เหรอลูก’ (หัวเราะ) คือเราก็ลองผิดลองถูกอยู่นาน หรืออย่างกะทินี่ก็เพิ่งจะมาชอบตอนแข่งรายการนี่แหละ ใช้บ่อยจนรู้สึกว่า เออ มันดีนะ หอม มัน กลายเป็นติดใจไปเลย”

     ดูเหมือนแนวคิดเรื่องชาตินิยมจัดๆ ในรายการที่ว่าด้วยเรื่องอาหารไทยจะทำให้แก้วต้องศึกษาเพิ่มเติม และปัจจัยนี้เองที่ทำให้เธอมองอาหารไทยเปลี่ยนไป

     “สำหรับแก้ว แก้วไม่รู้หรอกว่าไทยจริงๆ คืออะไร ไทยแท้คืออะไร แต่แก้วคิดแค่ว่าถ้าเอาวัตถุดิบที่เป็นไทยมาใส่ในอาหาร ก็นับว่าเป็นไทยแล้ว หรืออีกอย่างคือการที่ใช้วัตถุดิบที่ไม่ใช่ไทยเลยมาทำอาหารไทย ก็นับว่าเป็นอาหารไทยเหมือนกัน ถูกไหม? เราอาจไม่ต้องนิยามว่าใส่อะไรลงไปถึงจะไทย แค่ให้ภาพตอนจบดูเป็นไทยก็พอ”

 

 

“แก้วไม่รู้หรอกว่าไทยจริงๆ คืออะไร ไทยแท้คืออะไร แต่แก้วคิดแค่ว่าถ้าเอาวัตถุดิบที่เป็นไทยมาใส่ในอาหาร ก็นับว่าเป็นไทยแล้ว เราอาจไม่ต้องนิยามว่าใส่อะไรลงไปถึงจะไทย แค่ให้ภาพตอนจบดูเป็นไทยก็พอ”

  

 

     “ในฐานะที่ได้แชมป์ สิ่งหนึ่งที่สำคัญกับตำแหน่งนี้มากๆ คือ ‘ตำราอาหาร’ ส่วนตัวของคุณที่จะได้ตีพิมพ์ สิ่งที่เราจะได้เห็นในตำราเล่มนั้นน่าจะมีอะไรบ้าง?” ผมถามคำถามสำคัญต่อตำแหน่งแชมป์มาสเตอร์เชฟ

     “ใน cookbook เล่มแรกของตัวเอง แก้วคิดว่าต้องเป็นอาหาร Thai Twist คือเอาอาหารไทยเป็นหลักแต่บิดรูปแบบไปให้น่าสนใจ คิดว่าอยากทำข้าวซอย แต่ข้าวซอยของเราจะเอาบะหมี่มาทำเป็นแบบข้าวตัง และโรยหน้าด้านบนเป็นไก่ผัดน้ำข้าวซอยไปเลย มีกะทิที่ทำเป็นเม็ดๆ โรยด้วย เหมือนกับกินคำเดียวได้รสชาติครบทุกอย่าง ส่วนของหวาน แก้วอยากทำพวกคัพเค้กอบควันเทียน โรยด้วยหน้าขนมเบื้องดีไหม ก็คงน่ารักดี”

     แค่ได้ฟังจินตนาการทางรสชาติของเธอ เราก็เผลอกลืนน้ำลายไปหลายอึก เพราะสิ่งที่เธอพูดนั้นเป็นความใหม่ที่ไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายเกินไปที่จะคิดทำ ผมเลยถามเธอต่อถึงแรงบันดาลใจในการทำอาหาร ว่าเธอชื่นชอบเชฟคนไหนเป็นพิเศษหรือไม่ เธอนิ่งคิดไปสักครู่

     “แก้วชอบดูรายการมาสเตอร์เชฟมาก ส่วนใหญ่ดูของออสเตรเลีย อเมริกา และก็แคนาดานิดหน่อย ซึ่งนั่นก็ทำให้แก้วได้เห็นแรงบันดาลใจอะไรเยอะเลย มันสนุก แต่ถ้าถามว่าชอบใครเป็นพิเศษแก้วชอบสองคน คนแรกคือ Heston Blumenthal เขาเป็นเชฟมิชลินสตาร์สามดาว ที่ทำอาหารเลยคำว่าโมเดิร์นไปแล้ว คือกึ่งทดลองกึ่งอาว็องการ์ดไปแล้ว อาหารของเขาจะใส่สารโน่นนี่ลงไป ซึ่งเขาเจ๋งมาก

     “ส่วนอีกคนตรงกันข้ามเลย เป็นเชฟฝรั่งเศสแบบเทรดิชันนัลจ๋าๆ เลย Marco Pierre White ความโดดเด่นของเขาคือเขาเป็นครูที่ดี เก่งทุกอย่าง เหมือนเป็นต้นแบบให้คนอื่นๆ ได้ เพราะเขาจะทำอะไรที่มันดั้งเดิมและดี”

 

 

“สำหรับแก้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือลงมือทำเลย อย่ารอ หมายถึงทุกๆ เรื่องในชีวิต และแก้วเป็นคนที่เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลของมัน ถ้าขาดจุดไหนไปสักจุดในชีวิตคงไม่ใช่ตัวเราในวันนี้”

  

 

     “แก้วแค่อยากทำงานตรงนี้ไปจนตาย แก้วรักการทำอาหาร แก้วอยากมีเมนูของตัวเอง”

     ผมถามเธอในช่วงท้ายๆ ของการสนทนา ถึงความคาดหวังในสายงานอาชีพนี้ อาชีพที่เธอทั้งรักและบูชา

     “แก้วคาดหวังว่าในอนาคต แก้วจะได้ทำงานเกี่ยวกับอาหารไปเรื่อยๆ ได้เรียนรู้วัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น สะสมประสบการณ์ให้ได้เยอะๆ แค่นั้นก็น่าจะพอแล้ว สำหรับแก้ว ถ้าใครอยากจะเป็นเชฟ อยากจะทำอาหาร ถ้าอยากทำก็ทำเลย อย่ารอ สิ่งสำคัญที่สุดคือลงมือทำเลย

     “ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำอาหารด้วยนะ หมายถึงทุกๆ เรื่องในชีวิต และแก้วเป็นคนที่เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลของมัน ถ้าขาดจุดไหนไปสักจุดในชีวิตคงไม่ใช่ตัวเราในวันนี้”

     “ถ้าวันนี้เกิดไม่ได้ชนะรายการมาสเตอร์เชฟขึ้นมา แก้วจะทำอะไรอยู่?” ผมทิ้งคำถามสุดท้ายไว้กับเธอ ก่อนที่เธอจะตอบผมอย่างเรียบง่ายแกล้มเสียงหัวเราะ

     “แก้วก็คงจะบอกตัวเองว่า ‘เอาอีกๆ’ จนกว่าจะชนะ ถ้าอันนี้ไม่ชนะ ก็จะไปทำอย่างอื่นที่เราจะชนะ”

 

ซึ่งปัจจุบันเชฟแก้วและเชฟผึ้งเปิดร้านอาหารชื่อว่า Le Lapin เรามาดูกันว่าร้านสวยและอาหารน่าทานแค่ไหน

 

 

 

นอกจากนี้ทางร้านยังรับบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่แคเทอริ่งด้วยครับ ^_^

สถานที่ตั้ง : ร้าน Le Lapin bkk 99/106 หมู่บ้านชวนชื่น(เก่า) รามอินทรา65 กรุงเทพมหานคร

 

ขอบคุณเรื่องราวดีๆจาก https://thestandard.co/masterchef-thailand-kaew-paweenuch/

ขอบคุณรูปสวยๆจาก https://www.facebook.com/LeLapinDining/

ขอขอบคุณคุณแก้ว ที่ไว้ใจใช้ผลิตภัณฑ์จากร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^

Visitors: 124,394