ขาดทุนจากการขาย Delivery

บริการเดลิเวอรี่

บริการเดลิเวอรี่ ก็เป็นส่วนสำคัญที่คนทำร้านอาหารควรมี เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ แต่สงสัยหรือไม่ว่า บางร้านยอดเดลิเวอรี่ดี แต่ขาดทุน และบางรายเสียลูกค้าประจำไป เป็นเพราะสาเหตุอะไร  

 

การทำธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่ามีการแข่งขันกันสูงขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นต่างๆ การทำการตลาดในหลายช่องทาง รวมถึง บริการเดลิเวอรี่ ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในกลุ่มของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าร้านอาหารก็ควรมีบริการนี้เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย

แต่ถ้าเจ้าของร้านวางสมดุลระหว่างหน้าร้าน และบริการเดลิเวอรี่ไม่ดี ก็อาจจะทำให้ร้านคุณขาดทุน และสูญเสียลูกค้าได้เช่นกัน แล้วเจ้าของร้านอาหารควรทำอย่างไร มาฟังมุมมองจาก คุณธามม์ ประวัติตรี Managing Director, Wow Thai Food B.V. Amsterdam Netherland ที่จะมาให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้กันค่ะ

 

ปัญหาการแข่งขันในตลาด เดลิเวอรี่

จากประสบการณ์การทำร้านอาหาร ทั้งในประเทศไทย และร้านอาหารในต่างประเทศ คุณธามม์ ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ที่ผ่านมาเกือบตลอดทั้งปี จะเห็นได้ว่าการให้บริการแบบเดลิเวอรี่ กำลังมาแรงมากในการทำธุรกิจอาหารในประเทศไทย ร้านอาหารให้ความสนใจในบริการนี้ เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน ทำให้เกิดการแข่งขันในเรื่องตลาดเดลิเวอรี่ ค่อนข้างสูง มีตัวเลือกที่มากขึ้น หลายร้านพยายามหากลยุทธ์ในการส่งฟรี เพื่อดึงลูกค้าให้อยู่กับร้านเราให้ได้

ต้นทุนร้านอาหารเพิ่มจาก บริการเดลิเวอรี่

เดลิเวอรี่ เป็นบริการที่ดี ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย และรวดเร็ว ซึ่งหากร้านอาหารร้านใด มีบริการเดลิเวอรี่ด้วย ก็เป็นผลดีกับร้านส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเลือกซื้ออาหารจากร้านคุณ แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น ในมุมเจ้าของร้านอาหาร ก็นับว่าเป็นปัญหาของคนทำร้านอาหารอีกอย่างหนึ่งก็ว่าได้ แล้วเป็นปัญหาได้อย่างไร?

ในอดีตผู้ประกอบการร้านอาหาร จะเป็นคนส่งอาหารเอง ต่อมาก็มีการพัฒนาเรื่องการรับส่ง โดยมีบริการรับส่งอาหารจาก Grab / Uber / Lineman ฯลฯ ซึ่งบริการเหล่านี้บางรายจะมีการคิดค่าบริการจากเจ้าของธุรกิจร้านอาหารด้วย

นั่นทำให้เกิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการทำร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องจ่ายเพิ่ม โดยบริการเดลิเวอรี่แต่ละที่ ก็มีการเรียกเก็บค่าบริการในราคาที่แตกต่างกันไป ซึ่งถือเป็นต้นทุนร้านอาหารทั้งสิ้น

 

หาสมดุลระหว่างร้านอาหาร และบริการเดลิเวอรี่

อย่างที่กล่าวมา เมื่อมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เจ้าของร้านต้องหาจุดสมดุลระหว่างหน้าร้าน และบริการเดลิเวอรี่ให้ได้ ลองสมมติเล่นๆว่า ถ้าต้นทุนเป็น 100% แล้วต้องจ่ายให้เดลิเวอรี่ประมาณ 30% เหลือ 70%  เป็นต้นทุนอาหาร 30% ค่าเช่า 20% เราจะเหลือ 20% ยังไม่รวมเงินเดือน ถ้าเงินเดือน 15% เราเหลือ 5% เพราะฉะนั้นอยากจะให้ตระหนักตรงนี้ เพราะถ้าร้านเราเปิดร้านมา มีที่นั่งหน้าร้าน แล้วรายได้ส่วนใหญ่มาจากเดลิเวอรี่ อันนี้น่าห่วง นอกจากร้านเราทำเดลิเวอรี่อย่างเดียวอันนั้นโอเค

แต่ยังทำหน้าร้านอยู่ อยากไฮไลท์เลยว่า ให้เจ้าของร้านระมัดระวัง หาจุดสมดุลว่ายอดขายเดลิเวอรี่ จากthird party บริษัทรับส่งอาหาร ที่เราต้องเสียให้เขา ควรมีสัดส่วนเท่าไหร่ ต้องจำกัดให้ชัดเจน

และที่สำคัญเจ้าของร้านต้องให้ความสำคัญกับคนที่ตั้งใจมานั่งทานที่ร้านด้วย มิเช่นนั้น มีออเดอร์เดลิเวอรี่มาเป็นจำนวนมาก อาจกระทบกับลูกค้าหน้าร้านได้ ทำให้อาหารออกล่าช้า และอาจจะสูญเสียลูกค้ประจำไปในที่สุด

 

กระแสเดลิเวอรี่ ในอนาคต

สำหรับกระแสเดลิเวอรี่ในประเทศไทยตอนนี้ ยังคงเป็นที่นิยมอยู่อย่างมาก แต่คุณธามม์เผยว่า ในต่างประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์นั้น ตอนนี้กระแสเริ่มลดลงแล้ว เพราะผู้ประกอบการบางรายก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากแบ่งสัดส่วนต้นทุนค่าบริการเดลิเวอรี่ไม่สมดุล อย่างที่กล่าวไป ทำให้หลายๆร้าน ยอดเดลิเวอรี่ดี แต่ร้านเจ๊ง นอกจากว่าร้านของคุณมีรายได้จากเดลิเวอรี่เกิน 60% ก็สามารถเปิดเดลิเวอรี่สโตร์อย่างเดียวได้ เช่น พิซซ่าฮัทบางสาขาที่มีเดลิเวอรี่อย่างเดียว ก็เป็นการลดต้นทุน ทำเป็นร้านเล็กๆ ใช้พนักงานน้อยลง จ่ายให้กับ third party ผู้ให้บริการรับส่งอาหารได้เต็มที่ หรือบางร้านที่ออเดอร์เดลิเวอรี่เยอะ ก็สามารถทำเป็นครัวกลาง (Cloud Kitchen) ก็จะช่วยในเรื่องการจัดการอาหารได้ดีขึ้น

 

เรียกว่าเป็นสิ่งท้าทาย ที่เจ้าของร้านอาหารต้องหาจุดสมดุลให้ได้ การตลาดที่ดี คือการบริหารจัดการหน้าร้านให้ดี สร้างความประทับใจให้ลูกค้า การบอกปากต่อปากสำคัญมาก การทำกิจกรรมการตลาดเป็นสิ่งที่ดี  แต่ต้องเลือกใช้ให้ถูกที่ ทำอย่างไรให้ลูกค้ามาแล้ว ต้องกลับมาอีกนั่นเอง

ขอขอบคุณบทความดีๆ จากเพจ amarinacademy

 

 

Visitors: 118,105